ความหวัง ตอนที่ 2
เราจะมั่นใจในความหวังนั้นได้อย่างไรในเมื่อเรามองไม่เห็น?!
คำตอบของคำถามนี้คือเรามั่นใจได้ และความมั่นใจนี้ขึ้นอยู่กับใครหรือผู้ใดเป็นผู้ให้คำมั่นสัญญาจะมอบสิ่งที่เราคาดหวังไว้
จากตัวอย่างคราวที่แล้ว หากมีคนชวนเราไปเที่ยวต่างประเทศ การที่ท่านจะไว้วางใจว่าผู้ที่ชวนเรานั้นจะพาเราไปได้จริง ก็ขึ้นกับว่าผู้ที่ชวนนั้นเป็นใคร และเรามีความสัมพันธ์กับผู้นั้นอย่างไร ถ้าผู้ที่ชวนคือพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของเราที่สนิทด้วย เราย่อมสามารถมั่นใจและหวังได้ว่าการที่เขาชวนไปต่างประเทศนั้นจะเกิดขึ้นจริงแน่นอน แต่ถ้าผู้ที่ชวนเป็นคนที่เราไม่รู้จัก ไม่รู้ว่าเขามีฐานะเป็นอย่างไร หรือไว้ใจได้แค่ไหน เราก็คงไม่มั่นใจ และไม่อาจคาดหวังได้เลย
เช่นกัน เมื่ออัลลอฮฺได้กล่าวสัญญาว่าผู้ที่ศรัทธาและติดตามนบีอีซาจะอยู่เหนือผู้ปฏิเสธศรัทธาและได้รับชัยชนะเสมอจนถึงวันกิยามะฮ์ (ซูเราะฮ์อัลอิมรอน 3:55) และจะได้รับความรอดพ้นจนถึงสรวงสวรรค์นั้น ก็ย่อมสามารถเป็นที่มั่นใจและตั้งความหวังไว้ได้ เพราะนั่นเป็นคำมั่นสัญญาจากพระผู้เป็นเจ้า
มีข้อความจากจดหมายถึงผู้ศรัทธาชาวยะฮูด (ฮีบรู) บทที่ 11 ข้อ 1 ยืนยันว่าความหวังนี้เป็นที่แน่ใจและมั่นใจได้ ข้อความนั้นกล่าวว่า “ความเชื่อ คือความแน่ใจในสิ่งที่เราหวังไว้ และมั่นใจกับสิ่งที่เรามองไม่เห็น”
และอีกตอนได้กล่าวชัดเจนว่าที่มั่นใจได้เพราะพระผู้เป็นเจ้าเองให้สัญญา และพระองค์ไม่กลับคำแน่นอน ในบทที่ 6 ข้อ 18-19ก บันทึกไว้ว่า “ฉะนั้นมี 2 สิ่งนี้ที่ไม่อาจแปรเปลี่ยนได้ และเป็นไปไม่ได้ที่พระเจ้าจะพูดปด พวกเราที่ได้ไปหาพระองค์เพื่อจะได้รับความรอดพ้น จึงมีกำลังใจยิ่งนักที่จะยึดความหวังที่อยู่ตรงหน้าไว้ให้มั่น ความหวังที่เรามีนี้เป็นเสมือนสมอหลักแห่งจิตวิญญาณที่มั่นคงและปลอดภัย…”
เราจึงเห็นและสรุปได้ว่าเราสามารถมีความมั่นใจในความหวังได้ เมื่อผู้ที่ให้สัญญานั้นคือพระผู้เป็นเจ้า และเรามีประสบการณ์จากความศรัทธาต่อพระองค์
ขอจบด้วยคำกล่าวนึงที่ว่า ‘ความหวังทำให้มองเห็นในสิ่งที่มองไม่เห็น เชื่อในสิ่งที่ไม่น่าเชื่อ และได้รับในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้’